^___^ ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไชต์ชีววิทยานางสาว กิตติยา ประชามอญ ^___^

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความรู้เบื้องต้นของอนุกรมวิธานของพืช



1.1 ความหมายของวิชาอนุกรมวิธานพืช
อนุกรมวิธานของพืช (Plant Taxonomy) เป็นวิชาที่ศึกษาเรื่องราวของพืชเพื่อให้เห็นความแตกต่างและความเหมือนกันของพืชชนิดต่างๆ แล้วนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการจำแนกพืชเป็นหมวดหมู่ โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่พืชตามกฎเกณฑ์การตั้งชื่อ


หลักการศึกษาวิชาอนุกรมวิธานพืช ประกอบด้วยหลักใหญ่ 3 ประการ คือ

1. การจำแนกพืชออกเป็นหมวดหมู่ (Plant Classification) เป็นการนำพืชที่มีลักษณะเหมือนกันมาจัดไว้ในกลุ่มหรือหมู่เดียวกัน และมีการแบ่งพืชออกเป็นลำดับ (Category) ต่างๆ เช่น อาณาจักร (Kingdom) ดิวิชั่น (Division) คลาส (Class) อันดับ (Order) วงศ์ (Family) สกุล (Genus) และชนิด (Species) รวมไปถึงการเรียนรู้ถึงระบบการจำแนกพืชระบบต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ ได้จัดจำแนกไว้
2. การตรวจสอบลักษณะของพรรณไม้ (Plant Identification) เป็นการตรวจสอบหาชื่อวิทยาศาสตร์ในลำดับต่างๆ ของพืชนั้น ทำได้หลายวิธี เช่น โดยการตรวจสอบเทียบลักษณะของพรรณไม้นั้นกับตัวอย่าง ในพิพิธภัณฑ์พืช หรือเทียบกับหนังสือที่บรรยายลักษณะของพืชนั้นไว้ หรือถามผู้รู้ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การใช้รูปวิธาน (key) ซึ่งจะหาดูได้จากเอกสารหรือตำราทางอนุกรมวิธานพืช
3. การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช (Plant Nomenclature) การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชเป็นการศึกษาระบบกฎเกณฑ์การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎสากลของการตั้งชื่อพืช (International Code of Botanical Nomenclature, ICBN) เพื่อที่จะตั้งชื่อพืชได้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์

1.2 เอกสารสำคัญทางอนุกรมวิธานของพืช และพฤกษศาสตร์

การศึกษาอนุกรมวิธานพืชจำเป็นต้องมีหนังสือที่เกี่ยวกับการศึกษาทางพืชมาประกอบการศึกษา เพื่อให้ผลการศึกษาค้นคว้านั้นถูกต้อง ปัจจุบันหนังสือที่ให้ความรู้ด้านอนุกรมวิธานของพืชมีหลายประเภท เช่น
1. ดรรชนี (Index) คือ หนังสือที่รวบรวมชื่อพรรณไม้ชนิดต่างๆ ทั่วโลกไว้ ชื่อที่บันทึกไว้มีทั้งชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องและชื่อพ้อง (synonym) รวมทั้งบอกถิ่นกำเนิดของพืชชนิดนั้น ดรรชนีชื่อพืชบางเล่มอาจบอกเป็นชื่อสกุลเท่านั้น หนังสือดรรชนีชื่อพืชจะเรียงชื่อพืชตามตัวอักษร มีชื่อของผู้ตั้งชื่อกำกับไว้ มีวันที่ตีพิมพ์ แต่ไม่มีคำบรรยายลักษณะพืช และไม่มีรูปวิธานแสดงไว้
2. Dictionary และ Glossary คือ หนังสือที่จัดพิมพ์หัวข้อเรียงตามลำดับตัวอักษร มีการบรรยายหรืออธิบายคำศัพท์ทางพฤกษศาสตร์ หรืออาจเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นไม้ที่จัดพิมพ์ไว้เรียงตามลำดับตัวอักษร มีคำอธิบายเรื่องราวของต้นไม้นั้นๆ
3. Revisions คือ การนำเอางานทางอนุกรมวิธานพืชมาตรวจสอบแก้ไขใหม่เป็นการทบทวนงานที่ผู้อื่นทำมาก่อนแล้ว อาจทวนเฉพาะชนิด หรือสกุล โดยทำในพื้นที่เขตใดเขตหนึ่ง มีการบรรยายลักษณะเด่นของพืชนั้น เอกสารประเภทนี้สามารถใช้อ้างอิงเป็นคู่มือในการศึกษาพืชในเขตนั้นๆได้
4. Monographs คือ หนังสือที่เขียนบรรยายลักษณะเฉพาะวงศ์ใดวงศ์หนึ่งหรือเฉพาะสกุลใดสกุลหนึ่งเท่านั้น แต่บรรยายครอบคลุมไปทั่วโลก เป็นหนังสือที่ให้ความรู้กว้างกว่า Revisions เพราะให้ความรู้ทั้งด้านสัณฐานวิทยา กายวิภาคศาสตร์ เคมี ภูมิศาสตร์ของพืช อาจรวมถึงเซลล์วิทยาด้วย
5. Floras คือ หนังสือที่รวบรวมผลงานการสำรวจพืชในบริเวณพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ และบอกการกระจายพันธุ์ของพืชในสังคมและสิ่งแวดล้อมของพืชนั้นด้วย นอกจากนี้ยังมีการจำแนกพืชชนิดต่างๆ ที่สำรวจพบไว้ในลำดับต่างๆ ด้วย มีชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อพ้อง มีการบรรยายลักษณะพืช มีการจัดทำรูปวิธาน
6. Manuals คือ หนังสือที่เขียนบรรยายลักษณะพืชกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีการจำแนกกลุ่มพืชนั้นไว้เป็นลำดับต่างๆ มีการบรรยายลักษณะ มีรูปวิธาน กล่าวถึงการกระจายพันธุ์
7. Periodicals และ Serial Periodicals คือ หนังสือที่ออกตามเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน เช่น สองเดือนครั้งหรือสามเดือนครั้ง ส่วน Serial อาจออกไม่ตรงเวลาอาจคอยจนรวบรวมเรื่องได้ครบจึงพิมพ์ออกมาเล่มหนึ่ง หนังสือสองประเภทนี้มักมีหมายเลขกำกับ หรือใช้ชื่อหนังสือเป็น Journal หรือ Annuals (Ann.) หรือ Bulletin
8. Synopsis คือ หนังสือที่รวบรวมรายชื่อพืช และบรรยายลักษณะพืชนั้นไว้อย่างย่อๆ โดยอาจสรุปว่าแตกต่างจากพืชอื่นอย่างไร
9. Conspectus คือ หนังสือที่รวบรวมรายชื่อพืช ชื่อพ้อง อาจมีหรือไม่มีคำบรรยายลักษณะ แต่มักมีรายละเอียดเกี่ยวกับการกระจายแพร่พันธุ์

1.3 สวนพฤกษศาสตร์ (Botanical garden)
สวนพฤกษศาสตร์เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญ เพราะเป็นที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพืชชนิดต่างๆ จากทั่วโลกมาปลูกไว้เพื่อการศึกษา และยังเป็นสถานที่พักผ่อนให้ความร่มรื่นอีกด้วย ในสวนพฤกษศาสตร์จะปลูกพืชไว้เป็นหมวดหมู่ มีการจัดทำป้ายบอกชื่อวงศ์ และชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดต่างๆ มีประโยชน์มากเพราะสามารถเก็บตัวอย่างและศึกษาพืชจากตัวอย่างที่มีชีวิตได้ตลอดเวลา นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับการศึกษาทางอนุกรมวิธานของพืชแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่จะให้วัตถุดิบในการศึกษาด้านวิชาการอื่นอีกมากมาย

1.4 พิพิธภัณฑ์พืช
พิพิธภัณฑ์พืช (Herbarium) คือ สถานที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพืชอัดแห้ง (herbarium specimens หรือ dry plant specimens) โดยเก็บเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบพร้อมที่จะหยิบมาอ้างอิง หรือใช้เป็นตัวอย่างเทียบหาชื่อพืช
ประโยชน์ของพิพิธภัณฑ์พืช คือ เป็นสถานที่เก็บตัวอย่างพืชชิ้นสำคัญซึ่งใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงยืนยันว่าพืชชนิดนี้มีลักษณะเช่นนี้ มีอยู่ที่ใด พบที่ไหน เมื่อไร ตัวอย่างพืชอัดแห้งมีความสำคัญต่อการศึกษาทางอนุกรมวิธานของพืชมาก เพราะเป็นตัวอย่างที่ใช้ในการตัดสินชนิดของพืชที่เก็บต่อมาภายหลังว่าเป็นพืชชนิดใด โดยนำไปเทียบลักษณะ ดอก ใบ ผล กับตัวอย่างพืชอัดแห้งที่เป็นตัวอย่าง หรืออาจใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวอย่างพืชอัดแห้งในการวิจัย

1.5 การเก็บตัวอย่าง และอัดตัวอย่างพืช
วิธีการเก็บตัวอย่างพืชอัดแห้งและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ มีดังนี้
1. อุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น มีด กรรไกร ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ กระดาษ (สำหรับเขียนหมายเลขตัวอย่าง) เชือก(สำหรับผูกกระดาษหมายเลขตัวอย่างติดกับตัวอย่างพืช) สมุดบันทึก แผงไม้และกระดาษซับ สำหรับอัดตัวอย่างพืช
2. การเลือกเก็บตัวอย่างพืช ได้แก่
2.1 เลือกกิ่งพืชที่มีลักษณะสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัย ไม่มีแมลง มีอวัยวะครบทุกส่วน
2.2 ถ้าเป็นพืชขนาดเล็กจะเก็บทั้งต้น รวมทั้งรากด้วย ถ้าเป็นพืชขนาดใหญ่จะเก็บกิ่งยอดที่มีส่วน ใบ ดอก ครบ
2.3 พืชพวกเฟิร์น ต้องเก็บลำต้นใต้ดินบางส่วนมาด้วย เก็บทั้งใบธรรมดาและใบที่สร้างสปอร์
3. การอัดพืชลงบนแผงไม้
นำแผงไม้วางรองไว้ข้างล่าง วางกระดาษซับ แล้วจัดตัวอย่างพืชเรียงลงไปให้เห็นทุกส่วนชัดเจน เห็นใบทั้งส่วนหน้าและส่วนหลัง จากนั้นจึงนำกระดาษซับอีกคู่วางทับลงไป และใช้แผงไม้ระแนงอีกอันวางประกบและมัดเชือกให้แน่น แล้วนำไปทำให้แห้ง
4. การทำให้แห้ง โดยนำแผงไม้ไปตากแดด 1 วัน แล้วเปิดแผงไม้เปลี่ยนกระดาษซับและอัดพืชตามวิธีเดิม แล้วนำไปตากแดดอีกครั้งประมาณ 2-3 วัน ถ้าพืชอวบน้ำใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ ต้องระวังไม่ให้ตัวอย่างพืชขึ้นรา การทำให้แห้งอีกวิธีหนึ่ง คือ การอบ ซึ่งถ้าใช้เวลาอบน้อยจะทำให้ตัวอย่างพืชคงสภาพสีสดใส และเป็นธรรมชาติกว่าการตากแห้ง หล้งอบได้ 24 ชั่วโมง ให้เปลี่ยนกระดาษ และอบใหม่อีกครั้งประมาณ 12 ชั่วโมง ถึง 2 วัน ตามสภาพพืช
5. การใส่ยากันแมลง ใช้เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) 95% 100 มล. และเติมเมอร์คิวริคคลอไรด์ (mercuric chloride) ลงไป 1.5 กรัม นำตัวอย่างที่อบหรือตากแห้งมาชุบน้ำยาประมาณ 1 นาที วางผึ่งจนแห้งแล้วนำไปอบใหม่ (ระวังน้ำยากระเด็นโดนร่างกายเพราะเป็นสารก่อมะเร็ง)
6. การติดหรือเย็บตัวอย่างพืชบนกระดาษ นำตัวอย่างพืชที่ผ่านการชุบน้ำยากันแมลง แล้วนำมาติดบนกระดาษมาตรฐาน 11.5 X 16.5 นิ้ว อาจใช้กาวติดตัวอย่าง หรือใช้ด้ายเย็บ ส่วนสำคัญบางส่วนของพืช เช่น เมล็ด ผล อาจใส่ถุงกระดาษปิดปากถุงให้เรียบร้อยแล้วเย็บติดกับกระดาษที่ติดพืชอัดแห้ง
7. การเขียนข้อความที่เกี่ยวกับตัวอย่างพืชแห้ง ข้อความที่เขียน เรียกว่า ฉลาก (label) มีขนาด 3 X 4.5 นิ้ว จะติดไว้ที่มุมขวาของกระดาษติดตัวอย่างพืช ข้อความที่เขียนมีดังนี้
7.1 ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name)
7.2 วงศ์ (Family)
7.3 ท้องถิ่นที่พบ (Locality)
7.4 แหล่งที่อยู่อาศัย (Habitat)
7.5 ความสูง (Altitude)
7.6 หมายเหตุ เช่น ลักษณะแปลกของพืชชนิดนี้ สีของยาง เปลือกไม้ ความสูงของต้น
7.7 ชื่อผู้เก็บ (Collector)
7.8 วัน เดือน ปี ที่เก็บ (Date)
7.9 หมายเลขของตัวอย่างพืช
8. การเก็บและดูแลตัวอย่างพืชอัดแห้ง โดยการเก็บไว้ในกล่องหรือตู้เหล็ก โดยเรียงตามลำดับตัวอักษรชื่อพืช หรือจัดเป็นหมู่ตามระบบการจำแนกพืช ตู้หรือห้องที่เก็บต้องแห้ง ปราศจากความชื้น เพราะจะทำให้มีเชื้อรา อาจใช้สารเคมีกำจัดแมลง พืชบางชนิดเป็นไม้เนื้ออ่อน การอัดอาจทำให้เสียรูปทรง จึงควรใช้วิธีการดอง (liquid method) น้ำยาที่ดองโดยทั่วไปจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และฟอร์มาลิน (formalin) เรียกว่า Formalin-Aceto-Alcoho หรือ FAA ซึ่งมีสูตรดังนี้ เอทิลแอลกอฮอล์ 95% 15 ส่วน, น้ำกลั่น 10 ส่วน, ฟอร์มาลิน 1 ส่วน, เกลเชียล อะซีติกแอซิด 1 ส่วน อาจจะเติมกลีเซอรอล ลงไป 5-10% เพื่อกันการระเหยของน้ำในขวดที่ใช้บรรจุสูตรเดียวกันนี้ ถ้าเติมคอปเปอร์ซัลเฟต (copper sulphate)ลงไปก็จะสามารถรักษาสีเขียวของพืชไว้ มีสูตรคือ คอปเปอร์ซัลเฟต 0.2 กรัม, เอทิลแอลกอฮอล์ 95% 36 มล., น้ำกลั่น 60 มล., ฟอร์มาลิน 4 มล.

1.6 การออกสำรวจเก็บตัวอย่างพืช
การออกสำรวจเก็บตัวอย่างพืชเป็นการเดินทางไปยังแหล่งที่อยู่ของพืช แล้วเก็บรวบรวมพืชมาศึกษา การออกสำรวจด้วยตนเองเป็นการดีที่สุด เพราะผู้สำรวจจะเห็นสภาพแวดล้อม ต่างๆ ของพืชด้วยตนเอง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการค้นคว้าเกี่ยวกับพืชนั้น

1.7 ความหมายของคำศัพท์ที่สำคัญ
คำศัพท์ที่ใช้ในการอธิบายส่วนของอวัยวะพืช มีทั้งส่วนที่ไม่ใช่ในการสืบพันธุ์ (vegetative parts) และส่วนของดอก (floral parts) มีดังนี้
1. ราก ได้แก่
1.1 รากแก้ว (primary root) คือ รากที่เจริญมากจากแรดิเคิล (radicle) ของเอมบริโอในเมล็ดจะพบในพืชใบเลี้ยงคู่ ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวรากแก้วมีอายุสั้น จะเจริญในช่วงแรกของการงอกของเมล็ดแล้วหยุดเจริญไป ทำให้เมื่อโตเต็มที่จึงไม่มีรากแก้ว
1.2 รากแขนง (secondary root) คือ รากที่เจริญแตกแขนงออกจากรากแก้ว
1.3 รากวิสามัญ (adventitious root) คือ รากที่เจริญออกจากส่วนอื่นๆ ของพืชที่ไม่ใช่จากส่วนแรดิเคิลและรากแก้ว หรือรากแขนง เช่น แตกออกจากโคนต้น จากข้อ กิ่ง ใบของพืช
                                                             
2. ลำต้น ได้แก่
2.1 ไม้เนื้ออ่อน (herb) หมายถึง ลำต้นที่อ่อนนิ่ม ไม่มีเนื้อไม้ มักเป็นพืชอายุสั้น หรือพืชพวกใบเลี้ยงเดี่ยว
2.2 ไม้พุ่ม (shrub) หมายถึง พืชที่ลำต้นมีเนื้อไม้แข็ง แต่เตี้ยและแผ่กิ่งก้านเป็นพุ่ม
2.3 ไม้ยืนต้น (tree) หมายถึง พืชที่ลำต้นมีไม้เนื้อแข็ง มีขนาดสูงใหญ่
2.4 ไม้เถา (climber) หมายถึง พืชที่มีลำต้นเลื้อยพันไปเกาะตามหลักหรือไม้ใหญ่อื่นๆ
ลำต้นเปลี่ยนรูปร่างไปได้หลายแบบ เช่น
1) แคลโดด (cladode หรือ cladophyll หรือ phylloclade หรือ phyllode หรือ phyllodium) คือ ลำต้นที่เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่แทนใบ แต่ยังมีลักษณะของลำต้น คือ มีตา เช่น ต้นกระบองเพชร หรือก้านใบของต้นกระถินณรงค์ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมีลักษณะคล้ายแผ่นใบ เหง้า (rhizome) หรือ รูทสตอค (root stock) คือ ลำต้นใต้ดินที่วางตัวในแนวทอดขนานไปกับผิวดินมักเรียกว่า เหง้า จะเห็นข้อปล้องชัดเจน มักพองออกถ้าสะสมอาหาร เช่น ขิง ข่า กล้วย พุทธรักษา
2) ทูเบอร์ (tuber) เป็นลำต้นใต้ดินที่เกิดจากส่วนปลายของลำต้นซึ่งอยู่ใต้ดินจะพองออกเพราะสะสมอาหารไว้จนอวบอ้วนเห็นข้อปล้องไม่ชัดเจน บริเวณตาจะเป็นรอยบุ๋มลึกลงไป เช่น มันฝรั่ง
3) คอร์ม (corm) เป็นลำต้นใต้ดินที่เจริญโป่งพองในแนวตั้ง มีข้อ ปล้อง และตาชัดเจน แต่ปล้องจะชิดกันมาก พบมีใบเกล็ด (scale leaf) หรือรอยของโคนก้านใบอยู่ เช่น เผือก แห้ว บอน
4) บัลบ์ (bulb) เป็นลำต้นใต้ดินที่มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ตั้งตรง อาจโผล่เหนือผิวดินขึ้นมาเล็กน้อย มีก้านใบมาห่อหุ้มส่วนลำต้นนี้ไว้และใบนี้ยังสะสมอาหารอีกด้วย เช่น ลำต้นหอม กระเทียม



อายุของพืชที่สามารถนำมาใช้ในการแบ่งชนิดของพืชได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น ดังนี้

1) พืชอายุ 1 ปี (annual) คือ พืชอายุสั้นถ้านับอายุจากเริ่มงอกเป็นเมล็ดจนมีดอกมีผล มักมีอายุเพียงฤดูเดียวหรือ 1 ปีเท่านั้น มักมีลำต้นเป็นไม้เลื้อยเนื้ออ่อนด้วย
2) พืชอายุ 2 ปี (biennial) คือ พืชที่งอกจากเมล็ดแล้วเติบโตขึ้นในปีแรกแล้วมีดอก ผลในปีที่ 2 แล้วจึงตาย มักมีลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน
3) พืชอายุยืน (perennial) คือ พืชที่งอกจากเมล็ดแล้วมีอายุยืนยาวหลายปี มักมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นแข็งแรง ลำต้นมีไม้เนื้อแข็ง
                                                               


3. ใบ เป็นอวัยวะสำคัญของพืชประกอบด้วยส่วนสำคัญ คือ ก้านใบ (petiole) แผ่นใบ (lamina หรือ blade) และหูใบ (stipule)
3.1 การเรียงตัวของใบ (phyllotaxy) หมายถึง ลักษณะการติดของใบกับกิ่ง หรือลำต้น ซึ่งมี 4 แบบ คือ
1) การเรียงตัวของใบแบบสลับ (alternate) แบบนี้จะมีใบติดที่ข้อ 1 ใบ โดยใบที่ข้อหนึ่งจะอยู่ตรงข้ามกับใบที่ติดอยู่ที่ข้อหนึ่งเสมอ
                                                             
2) การเรียงตัวของใบแบบวนเป็นเกลียว (spiral) แบบนี้จะมีใบติดที่ข้อ 1 ใบ โดยใบติดที่ข้อต่อไปจะเรียงเยื้องไปทีละน้อย จุดติดของใบบนกิ่งจึงวนเป็นเกลียวรอบกิ่ง
3) การเรียงตัวของใบแบบตรงข้าม (opposite) แบบนี้จะมีใบติดอยู่ที่ข้อ 2 ใบ ในตำแหน่งตรงข้ามกัน มีทั้งเรียงตรงข้ามแบบที่แนวการวางตัวของใบทั้งสองที่แต่ละข้อจะอยู่ตำแหน่งเดียวกันหมด และอีกแบบจะมีแนวการวางตัวของใบที่ข้อหนึ่งจะตั้งฉากกับแนวการวางตัวของใบที่ข้อถัดไป (opposite decussate)
                                                   
4) การเรียงตัวของใบแบบรอบข้อ (whorled หรือ verticillate) แบบนี้จะมีใบติดอยูที่ข้อมากกว่า 2 ใบขึ้นไป
                                                    

3.2 ก้านใบ (petiole) คือ ส่วนคล้ายกิ่ง ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างลำต้นกับใบที่ ไม่มีก้านใบเรียกว่า เซสไซล์ (sessile leaf) ลักษณะของก้านใบมีแตกต่างกันไปหลายแบบ เช่น
1) พัลวินัส (pulvinus) คือ ส่วนก้านใบที่โป่งพองออกเล็กน้อย
2) ก้านใบแผ่เป็นกาบ (sheathing leaf-base)
3) ดีเคอร์เรนท์ (decurrent) คือ ก้านใบอาจรวมทั้งฐานใบแผ่ออกเป็นปีก แล้วโอบล้อมลำต้นลงไปจนถึงข้อด้านล่าง
4) ก้านใบแผ่เป็นแผ่นคล้ายปีก (winged petiole)
5) ก้านใบโป่งพอง เพื่อช่วยพยุงลำต้นให้ลอยน้ำ
                                                      
3.3 หูใบ (stipule) คือ ส่วนที่เจริญออกจากฐานใบ ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้กับตาอ่อน พบมีทั่วไปในพืชใบเลี้ยงคู่ แต่ไม่ค่อยพบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ถ้ามีหูใบเรียกว่า สติพูเลท (stipulate leaf) ถ้าไม่มีหูใบเรียก เอกสติพูเลท(exstipulate leaf) ลักษณะของหูใบ เช่น
1) แอดเนท (adnate หรือ adherent) คือ มีหูใบ 2 อัน ซึ่งเชื่อมติดกับก้านใบทั้งสองด้านทำให้ดูคล้ายปีก
2) อินทราเพทิโอลาร์ (intrapetiolar stipule) หูใบอยู่ที่โคนก้านใบตรงบริเวณมุมระหว่างก้านใบกับลำต้น
3) อินเทอร์เพทิโอลาร์ (interpetiolar stipule) หูใบอยู่ระหว่างก้านใบที่ติดกับลำต้นแบบตรงข้าม
4) โอเครีย (ochrea) คือ หูใบ 2 อันที่เชื่อมติดกันกลายเป็นหลอดหุ้มลำต้นไว้ อาจเชื่อมเป็นหลอดตลอดความยาว หรืออาจมีส่วนปลายโอเครียแยกกันบ้าง มีดังนี้
1) หูใบเปลี่ยนแปลงเป็นมือเกาะ (tendrillar stipule)
2) หูใบเปลี่ยนแปลงเป็นหนาม
3) หูใบเปลี่ยนเป็นกาบหุ้มยอดอ่อนของลำต้น
4) หูใบแผ่ออกคล้ายใบ (foliaceous stipule)
                                                
3.4 แผ่นใบ(lamina หรือ blade) คือ ส่วนที่แผ่แบนออกเป็นแผ่นซึ่งอาจมีรูปร่างแตกต่างกันไปหลายแบบ
3.5 ปลายใบ (leaf apex) คือ ส่วนบนหรือปลายสุดของแผ่นใบซึ่งมีลักษณะ ต่างๆ กัน
3.6 ฐานใบ (leaf base) คือ ส่วนของแผ่นใบที่บริเวณติดกับก้านใบ ซึ่งมีการผัน แปรแตกต่างกันไปได้หลายลักษณะ
3.7 ขอบใบ (leaf margin) มีลักษณะต่างๆ





3.8 ชนิดของใบ แบ่งออกเป็น ดังนี้
1) ใบเดี่ยว (simple leaf) คือ ใบที่มีแผ่นใบ 1 แผ่นติดอยู่บนก้านใบ 1 ก้าน
2) ใบประกอบ (compound leaf) คือ ใบที่มีแผ่นใบย่อย (leaflet) ตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไปติดอยู่บนก้านใบ 1 ก้าน แบ่งออกเป็น ดังนี้
- ใบประกอบแบบขนนก (pinnately compound leaf)
- ใบประกอบแบบมือ (palmately compound leaf)
3.9 การเรียงตัวของเส้นใบ (venation) มี 3 แบบ คือ
1) เส้นใบเรียงขนานกัน (parallel venation) เส้นใบจะเรียงขนานกันตั้งแต่ฐานจนถึงปลายใบ พบในใบพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แบ่งเป็น
- เส้นใบเรียงขนานคล้ายฝ่ามือ (palmately parallel venation) เป็นการเรียงของเส้นใบจากฐานใบขนานไปเรื่อยจนจดปลายใบ
- เส้นใบเรียงขนานคล้ายขนนก (pinnately parallel venation) เป็นการเรียงของเส้นใบที่แตกจากเส้นกลางใบแล้วขนานกันไปจนจดขอบใบ
2) เส้นใบเรียงแบบร่างแห (netted venation หรือ reticulate venation) มีการแตกแขนงของเส้นใบย่อยออกไปทุกทิศทางแล้วมาประสานกันเป็นร่างแห พบในใบพืชใบเลี้ยงคู่ แบ่งเป็น
- เส้นใบเรียงแบบร่างแหคล้ายฝ่ามือ (palmately netted venation) มีเส้นใบใหญ่มากกว่า 1 เส้น แตกเรียงขนานจากฐานไปสู่ปลายใบ แล้วมีเส้นใบย่อยแตกแขนง
- เส้นใบเรียงแบบร่างแหคล้ายขนนก (pinnately netted venation) มีเส้นกลางใบ 1 เส้นแตกจากฐานใบไปสู่ปลายใบ แล้วมีเส้นใบย่อยแตกเป็นร่างแห
3) เส้นใบเรียงแบบไดโคโตมัส (dichotomous venation) เส้นใบจะเรียงขนาน แต่ปลายสุดของเส้นใบแตกเป็น 2 แฉก
4. ดอก คือ ส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากกิ่งเพื่อทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์ ส่วนประกอบของดอกจึงเป็นส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากใบ กิ่งที่เปลี่ยนแปลงมานี้จะมีส่วนปล้องสั้น ซ้อนทับกันเป็นฐานรองดอก ส่วนประกอบของดอกนับเป็นชั้นนอกสุดเข้าไปหาชั้นในสุด ดังนี้
ชั้นนอกสุดประกอบด้วย กลีบเลี้ยง (sepal) ซึ่งเรียงตัวเป็นวง เรียกว่า วงกลีบเลี้ยง (calyx)
ชั้นถัดมาประกอบด้วย กลีบดอก (petal) ซึ่งเรียงตัวเป็นวง เรียกว่า วงกลีบดอก (corolla)
ถัดจากวงกลีบดอก เป็นเกสรตัวผู้ (stamen) เรียก วงเกสรตัวผู้ (androecium)
ถัดจากวงเกสรตัวผู้เข้ามา เป็นเกสรตัวเมีย (pistil) เรียก วงเกสรตัวเมีย (gynoecium)
                                          
ดอกที่มีครบทั้ง 4 ชั้น เรียกว่า ดอกสมบูรณ์ (complete flower) ถ้ามีไม่ครบ เรียกว่า ดอกไม่สมบูรณ์ (incomplete flower)
ดอกที่มี่ส่วนที่ใช้ในการสืบพันธุ์ครบ เรียกว่า ดอกสมบูรณ์เพศ (perfect flower) ถ้ามีไม่ครบ เรียกว่า ดอกไม่สมบูรณ์เพศ (imperfect flower)

รายละเอียดของแต่ละส่วนของดอก มีดังนี้
4.1 ก้านดอก (peduncle) คือ ส่วนที่เชื่อมระหว่างดอกกับลำต้น บางชนิดไม่มีก้านดอก (sessile flower) จะเห็นดอกอยู่ติดกับลำต้นหรือกิ่งเลย
4.2 ฐานรองดอก (receptacle) คือ ส่วนปลายของก้านดอกที่ทำหน้าที่รองรับส่วนต่างๆ ของดอกไว้ โดยทั่วไปฐานรองดอกจะมีลักษณะพองออกและแผ่แบนเล็กน้อย แต่อาจมีลักษณะบางอย่างแตกต่างกันออกไป เช่น
- ทอรัสหรือทาลามัส (torus หรือ thalamus) คือ ฐานรองดอกที่ี่ษณะค่อนข้างหนาพองออกมามากกว่าปกติ เช่น ฝักบัว
- ดิสก์ (disc) คือ ฐานรองดอกที่ขยายพองออกมีลักษณะที่คล้ายหมอนรองรับหรือหุ้มส่วนรังไข่ไว้
- ไจโนฟอร์ (gynophore) คือ ส่วนของฐานรองดอกที่เจริญยื่นยาวเป็นก้านชูเกสรตัวเมียไว้ เรียกว่า แอนโดรไจโนฟอร์ (androgynophore หรือ gynandrophore) ถ้าชูเฉพาะก้านชูเกสรตัวผู้เรียก แอนโดรฟอร์ (androphore)
- คาร์โปฟอร์ (carpophore) คือ ส่วนฐานรองดอกที่เจริญยื่นออกไปชูรังไข่ไว้

4.3 ใบประดับหรือแบรค (bract) คือ ส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากใบเพื่อทำหน้าที่ประดับดอกหรือช่อดอก
4.4 กลีบเลี้ยง (sepal) คือ ส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากใบ มีลักษณะเป็นกลีบ อาจแยกกันหรือเชื่อมรวมกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงมักมีสีเขียวทำหน้าที่หุ้มดอกเมื่อดอกยังอ่อน กลีบเลี้ยงแต่ละกลีบอาจแยกเป็นอิสระ (calyx distinctหรือ calyx free) เรียกดอกที่มีกลีบเลี้ยงหลายกลีบและแยกกันเป็นอิสระว่า โพลีเซพพาลัส (polysepalous flower) ในดอกไม้บางชนิดกลีบเลี้ยงอาจเชื่อมติดเป็นหลอด (calyx united) เรียกหลอดกลีบเลี้ยง (calyx tube) ดอกไม้ที่มีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน เรียกว่า แกมโมเซพพาลัส (gamosepalous flower หรือ synsepalous flower)
4.5 กลีบดอก (petal) คือ ส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากใบ ไม่ใช้ในการสืบพันธุ์ มีสีสวย อาจมีกลิ่นหอม กลีบดอกอาจแยกอยู่เป็นอิสระ (corolla distinct หรือ corolla free) เรียกดอกไม้ที่มีกลีบดอกมากและแยกออกเป็นอิสระว่า โพลีเพททาลัส (polypetalous flower หรือ choripetalous flower) กลีบดอกอาจเชื่อมติดกันเป็นหลอด (corolla united)เรียกส่วนที่กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดว่า หลอดดอก (corolla tube) ซึ่งปลายสุดของดอกจะเว้าเป็นพู เรียกดอกไม้ที่มีกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดว่า แกมโมเพททาลัส (gamopetalous flower หรือ sympetalous flower) ดอกไม้บางชนิดไม่มีกลีบดอก เรียกว่า อะเพททาลัส (apetalous flower) มีเพียงชั้นของกลีบดอกที่อาจมีสีสวยงาม 1 ชั้น หรือไม่มีทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเลยก็ได้

รูปทรงของหลอดดอกแบบต่างๆ การเชื่อมของกลีบดอกทำให้เกิดหลอดดอกที่ต่างๆ กัน เช่น

รูปวงล้อ (rotate) ส่วนของดอกจะสั้นตั้งตรง ส่วนพูของหลอดดอกจะกางแผ่ออก ทำมุมฉากกับหลอดดอกเรียงตัวเป็นวง

รูประฆัง (campanulate) ส่วนของดอกโป่งพองคล้ายรูประฆัง ส่วนพูจะกางทำมุมกับหลอดดอกหรือไม่ก็ได้

รูปไข่หรือรูปคนโท (urceolate) ส่วนหลอดดอกจะพองเป็นรูปไข่ ส่วนพูดอกจะแผ่เปิดกว้างออก แต่มีขนาดเล็กกลีบมน

รูปเข็ม (salver-form) ส่วนหลอดดอกมีลักษณะเป็นหลอดเล็กๆ ยาว แคบ ปลายบนสุดของหลอดดอกอาจใหญ่ขึ้นเล็กน้อย ส่วนพูดอกจะแผ่ออกตั้งฉากกับหลอดดอก

รูปกรวย (funnel-form) ส่วนหลอดดอกมีรูปร่างเหมือนกรวย ส่วนบนของดอกจะผายกว้างออก ส่วนพูจะแผ่กางออก

รูปหลอด (tubular form) ส่วนหลอดดอกจะมีขนาดเล็กเป็นหลอดขนาดยาวเท่ากันตลอด ส่วนหลอดดอกจะตั้งชูขึ้น

รูปลิ้น (ligulate) ส่วนของหลอดดอกจะเล็กและสั้น แต่ส่วนพูหลอดดอกจะแผ่เป็นกลีบใหญ่ที่มีลักษณะเป็นแผ่นยาวออกไป 1 แผ่น ทำให้มีลักษณะคล้ายลิ้น

รูปริมฝีปาก (bilabiate) ส่วนหลอดดอกอาจจะสั้นหรือยาวก็ได้ แต่พูของหลอดดอกจะแยกออกเป็น 2 กลีบ อาจมีขนาดเท่ากันหรือกลีบใดกลีบหนึ่งใหญ่กว่ากลีบหนึ่ง

รูปริมฝีปากชิด (personate) เหมือนกับรูปริมฝีปากมี 2 ส่วนแยกกัน แต่ริมฝีปากทั้งสองส่วนจะชิดกันมากทำให้ปากปิดชิดกัน
4.6 เกสรตัวผู้ (stamen) คือ ส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากใบเพื่อทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ คือ ก้านชู (filament) และอับเกสรตัวผู้ (anther) 2 พู ซึ่งภายในมีละอองเกสรตัวผู้ (pollen) จำนวนเกสรตัวผู้มีตั้งแต่ 1 จนถึงจำนวนมากนับไม่ได้ แต่โดยทั่วไปมักมีจำนวนเท่ากับกลีบดอก การติดของอับเกสรตัวผู้กับก้านชูมีหลายแบบ
                                     


4.7 เกสรตัวเมีย (pistil) คือ ส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากใบซึ่งเรียกว่า คาร์เพล (carpel) มาประกอบกันเป็นเกสรตัวเมีย เพื่อทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์ เกสรตัวเมียประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนล่างสุดจะโป่งพอง ภายในมีโพรง เรียก รังไข่ (ovary) ซึ่งวางอยู่บนฐานรองดอก ส่วนบนของรังไข่จะเรียวเล็กเป็นก้านชูเกสรตัวเมีย (style) ปลายสุดเป็นยอดเกสรตัวเมีย (stigma)
เกสรตัวเมีย 1 อันที่เกิดจาก 1 คาร์เพล เรียกว่า เกสรตัวเมียเดี่ยว (simple pistil) ภายในรังไข่จะมีเพียง 1 ห้อง (locule)
เกสรตัวเมีย 1 อันที่เกิดจากหลายคาร์เพลมาเชื่อมกัน เรียกว่า เกสรตัวเมียประกอบหรือซินคาร์พัส (compound pistil หรือsyncarpous) เมื่อตัดตามขวางจะเห็นมีหลายห้อง
                                                      
เกสรตัวเมียประกอบในดอกไม้บางชนิด อาจไม่เชื่อมติดกันเลย จะแยกกันเป็นอิสระ จึงเห็นมีรังไข่หลายอันในหนึ่งดอก เรียกว่า อะโปคาร์พัส (apocarpus)
ตำแหน่งของรังไข่ ดังนี้



รังไข่ที่อยู่สูงกว่าส่วนอื่นของดอก (superior ovary) ลักษณะนี้จะเห็นส่วนของเกสรตัวเมียทุกส่วน คือ เห็นรังไข่ตลอดจนถึงปลายยอดเกสรตัวเมีย ดอกไม้ที่มีรังไข่แบบนี้เรียกว่า ไฮโปจีนัส (hypogenous flower)

รังไข่ที่มีส่วนยื่นให้เห็นประมาณครึ่งหนึ่ง (half inferior ovary) ดอกไม้ที่มีรังไข่แบบนี้เรียกว่า อีพิจีนัส (perigenous flower)

รังไข่ที่อยู่ต่ำกว่าส่วนอื่นของดอก (inferior ovary) รังไข่จะฝังจมเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกันกับฐานรองดอก ทำให้รังไข่อยู่ตำกว่าส่วนอื่นของดอก ดอกไม้ที่มีรังไข่แบบนี้เรียกว่า อีพิจีนัส (epigenous flower)
ออวุล (ovule) คือ อวัยวะที่อยู่ภายในรังไข่ ภายในออวุลจะมีไข่ (egg) เมื่อไข่ได้รับการผสมพันธุ์จะเจริญกลายเป็นเมล็ด ออวุลมีส่วนประกอบคือ มีก้านชูออวุล (funiculus) ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างออวุลกับผนังรังไข่ โดยติดกับผนังรังไข่ตรงบริเวณที่เรียกว่า พลาเซนตา (placenta)
ตำแหน่งการติดของออวุลในรังไข่ที่บริเวณพลาเซนตา (placentation type) มีดังนี้

ออวุลติดที่ด้านข้างของรังไข่ (parietal placentation) รังไข่อาจเกิดจากคาร์เพลเดียวมาห่อตัวเชื่อมกัน เกิดรังไข่ 1 ห้องแนวขอบที่คาร์เพลเชื่อมจะเป็นเนื้อเยื่อพลาเซนตา ที่ออวุลเจริญขึ้นมาเห็นออวุล 1 แถว หรือเกิดจากหลายคาร์เพลมาเชื่อมเกิดรังไข่ที่มี 1 ห้อง ออวุลจะเกิดบริเวณที่ขอบคาร์เพลมาเชื่อมกัน ซึ่งอาจติดกระจายทั่วผิวด้านในรังไข่

ออวุลติดอยู่ที่บริเวณมุมของห้องตรงกลางรังไข่ (axile placentation) รังไข่อาจเกิดจากหลายคาร์เพลมาเชื่อมกันเกิดรังไข่หลายห้อง ออวุลติดตรงแกนกลางที่คาร์เพลเชื่อม

ออวุลติดที่แกนกลางของรังไข่ (free central placentation) รังไข่มีห้องเดียวมีแกนพลาเซนตาเจริญเป็นแท่งจากฐานขึ้นไป ไม่จดกับด้านบนของรังไข่ ออวุลติดที่แกนกลาง

ออวุลติดที่ฐานของรังไข่ (basal placentation) รังไข่มี 1 ห้อง และออวุลมีจำนวนน้อยเจริญจากส่วนฐานรังไข่

ออวุลติดที่ด้านบนของรังไข่ (apical placntation) รังไข่มี 1 ห้อง ออวุลติดที่ปลายยอดด้านบนของรังไข่
การติดของไข่ที่พลาเซนตาภายในรังไข่ และชนิดของรังไข่



5. ช่อดอก (inflorescence) ดอกไม้ที่เกิดที่ปลายก้านดอกเพียงดอกเดียวเรียกว่า ดอกเดี่ยว (solitary flower) ส่วนดอกไม้ที่มีหลายดอกเกิดอยู่บนก้านดอกเดียวกัน เรียกว่า ช่อดอก ซึ่งเรียกแต่ละดอกบนช่อดอกนี้ว่า ดอกย่อย ถ้าใช้ลักษณะการเกิดก่อนและหลังของดอกย่อย รวมทั้งการแตกกิ่งของก้านดอกจะสามารถแยกประเภทช่อดอกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ แบบราซีโมส (racemose inflorescence) และแบบไซโมส (cymose inflorescence)
5.1 แบบราซีโมส เป็นช่อดอกที่มีการเจริญแบบไม่มีขีดจำกัด แกนกลางช่อดอก (rachis) จะยาวหรือสั้นก็ได้ ดอกย่อยที่เกิดก่อนจะอยู่ที่โคนช่อ ดอกอ่อนอยู่ที่ปลายยอดสุด ดอกจะบานจากโคนไปหายอด ดอกช่อแบบราซีโมสแบ่งย่อยออกเป็น ดังนี้
- ช่อดอกราซีโมสที่มีแกนกลางของช่อ 1 แกน แยกเป็น แบบราซีม (raceme), คอริมบ์ (corymb), สไปค์(spike), สแพดิก (spadix), แคทกิน (catkin), เฮด (head หรือ capitulum), อัมเบล (umbel)
- ช่อดอกราซีโมสที่มีแกนกลางของช่อหลายแกน แยกเป็น แบบแพนิเคิล (panicle), คอมพาวด์สไปด์ (compound spike), คอมพาวด์อัมเบล (compound umbel)
5.2 แบบไซโมส เป็นช่อดอกที่การเจริญมีขีดจำกัด เนื้อเยื่อปลายสุดของช่อไม่มีการเจริญต่อไปกลายเป็นดอก และดอกที่ปลายสุดจะบานก่อนดอกที่อยู่ถัดลงมาด้านล่าง ดอกช่อแบบไซโมสแบ่งย่อยออกเป็น ดังนี้
1) โมโนซาเซียม (monochasium) ดอกแก่ที่สุดจะอยู่ปลายช่อ ส่วนดอกล่างจะเจริญออกจากข้อของกิ่งแต่ละข้อ โดยแตกออกจากด้านเดียวกันของช่อดอกทำให้เกิดช่อดอกอีกหลายแบบ เช่น โมโนซาเซียมแบบมีดอกล่างเพียงดอกเดียว, โมโนซาเซียมแบบดอกย่อยล่างๆ จะแตกออกจากกิ่ง โดยสลับซ้ายขวาไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดช่อดอกแบบโมโนซาเซียมแบบสคอร์ปิออยด์ (scorpioid monochasium) และโมโนซาเซียมแบบที่ดอกย่อยล่างๆ จะแตกออกจากกิ่งเพียงด้านเดียวได้ช่อดอก เรียกว่า เฮลิคอยด์ (helicoid monochasium) ปลายช่อดอกจะโค้งเข้าหาก้านช่อดอก
2) ไดซาเซียม (dichasium) เป็นช่อดอกที่มีดอกที่เกิดก่อนแก่ที่สุดอยู่ปลายช่อ มีดอกย่อยแตกออกทั้งสองข้างของดอกที่แก่สุดที่ปลายช่อนั้น ยังแยกออกเป็น 2 แบบ คือ ไดซาเซียมชนิดเดี่ยว (simple dichasium) จะมีดอกย่อยเพียง 3 ดอก ดอกย่อยที่แก่สุดจะอยู่ปลายช่อ เรียกช่อดอกแบบนี้ว่า ไซม์ (cyme) และคอมพาวด์ไดซาเซียม (compound dichasium) เป็นช่อดอกเหมือนไดซาเซียมชนิดเดี่ยว แต่เกิดอยู่รวมซ้อนกันเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีช่อดอกแบบพิเศษ ได้แก่
1) ไซอาเทียม (cyathium) เป็นช่อดอกที่ประกอบด้วยดอกตัวเมีย 1 ดอก อยู่ที่ปลายช่อและดอกตัวผู้ลดรูปลงเหลือแค่เกสรตัวผู้เท่านั้นรวมอยู่ในช่อด้วย
2) ไฮแพนเทียม (hypanthium หรือ hypanthodium) เป็นช่อดอกที่เกิดจากฐานรองอกเจริญหุ้มขึ้นเป็นรูปถ้วย อาจมีกลีบเลี้ยงเจริญร่วมด้วย ภายในฐานรองดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดเล็กแยกเพศ ฐานรองดอกจะหุ้มกลุ่มดอกย่อยไว้ไม่มิด ตรงปลายสุดจะเปิดรูทำให้แมลงเข้าไปช่วยผสมเกสร
3) เวอร์ติซิเลท (verticillate) จะมีดอกย่อยแตกออกรอบข้อของแกนกลางช่อดอกใหญ่และเรียงขึ้นไปเป็นชั้นคล้ายฉัตร

6. ผล (friut) คือ ส่วนที่เจริญเติบโตที่เปลี่ยนแปลงมาจากรังไข่ หลังจากที่ดอกนั้นได้รับการผสมพันธุ์ เมื่อผลเจริญขึ้นอาจมีส่วนอื่นของดอก เช่น ฐานรองดอก กลีบเลี้ยงยอดเกสรตัวเมียเจริญติดมากับผลด้วยก็ได้ ภายในผลมีเมล็ด ผลบางชนิดอาจเติบโตโดยดอกไม่ได้รีบการผสมพันธุ์ เรียกว่า พาร์ทีโนคาร์ปิคฟรุต (parthenocarpic fruit) และส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อของผลจึงเปลี่ยนแปลงมาจากผนังรังไข่ เมื่อเจริญกลายเป็นผลอาจเป็นทั้งเปลือกและเนื้อเยื่อของผลเนื้อเยื่อทั้งหมดของผล เรียกว่า เพอริคาร์พ (pericarp) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ
1) เนื้อเยื้อชั้นนอกสุดของผล (exocarp) เป็นเปลือกของผลซึ่งอาจบาง นิ่ม หนาหรือแข็ง
2) เนื้อเยื่อชั้นกลางของผล (mesocarp) เนื้อเยื่อส่วนนั้นเป็นส่วนที่อ่อนนุ่มและรับประทานได้ ผลบางชนิดอาจมีลักษณะเป็นเส้นใยหนาเหนียว
3) เนื้อเยื่อชั้นในของผล (endocarp) มักเป็นส่วนที่อ่อนนุ่ม เชื่อว่าเป็นเนื้อเดียวกันกับเนื้อเยื่อชั้นกลาง และรับประทานได้ แต่ในผลบางชนิดเนื้อเยื่อชั้นนี้อาจจะแข็งทำหน้าที่หุ้มเมล็ด
ผลมีลักษณะต่างกันขึ้นอยู่กับจำนวนดอกและลักษณะของคาร์เพล สามารถจำแนกผลออกเป็น 3 ชนิด คือ
6.1 ผลเดี่ยว (simple fruit) เป็นผลที่เกิดจากดอกเดี่ยวๆ มีเกสรตัวเมียทีเกิดจากคาร์เพลเดียวหรือหลายคาร์เพลเชื่อมติดกัน ผลเดี่ยวอาจมีเพอริคาร์พที่มีลักษณะเป็นเนื้อนุ่ม เมื่อผลสุกเต็มที่เพอริคาร์พอาจแห้งแข็ง จึงแบ่งชนิดของผลตามเพอริคาร์พออกเป็น ผลสดและผลแห้ง ดังนี้

1) ผลสด (fleshy fruit) คือ ผลที่เมื่อเจริญเต็มที่แล้วเพอริคาร์พจะมีลักษณะอ่อนนุ่มชุ่มน้ำ แบ่งย่อยออกเป็น ผลแบบ
- ดรูพ (drupe) เป็นผลสดที่มีเนื้อเยื่อชั้นนอกบางและนุ่ม เนื่อเยื้อชั้นกลางหนาแต่นุ่ม และเนื้อเยื่อชั้นในแข็งเหนียวทำหน้าที่หุ้มเมล็ด
- เบอร์รี (berry) เป็นผลที่มีเนื้อเยื่อเพอริคาร์พแบบ 3 ชั้น มีลักษณะอ่อนนุ่มเหมือนกันหมด
- แบคเคท (baccate) เป็นผลที่เกิดจากรังไข่ที่อยู่ต่ำกว่าส่วนอื่นของดอก ส่วนที่เป็นเนื้อหนา เปลือกจะบางและเหนียว
- เพพโพ (pepo) เป็นผลที่มีเปลือกนอกหนาสุด แข็งและเหนียว ส่วนเนื้อเยื่อชั้นกลางและชั้นในจะเป็นเนื้อนุ่ม อาจมีเมล็ดมาก
- โพม (pome) เป็นผลที่มีเนื้ออ่อนนุ่ม เจริญมากจากฐานรองดอก ส่วนรังไข่เป็นแบบที่ฝังตัวอยู่ในฐานรองดอก ผลที่แท้จริงจึงฝังตัวอยู่ในฐานรองดอกที่เจริญเป็นเนื้อเยื่อของผลด้วย
- เฮสเพอริเดียม (hesperidium) เป็นผลที่เจริญมาจากรังไข่ที่อยู่สูงกว่าส่วนอื่นของดอก และประกอบด้วยหลายคาร์เพลเชื่อมกัน เนื้อเยื่อชั้นในสุดของผลอ่อนนุ่มและมีต่อมน้ำมันมาก ส่วนเนื้อเยื่อชั้นในสุดของผลจะมีลักษณะเป็นถุงเล็กๆ จำนวนมาก ภายในถุงเก็บน้ำหวานไว้
2 ผลแห้ง (dry fruit) คือ ผลที่เมื่อเจริญแก่เต็มที่แล้ว ส่วนเพอริคาร์พของผลจะแห้งแข็ง ไม่มีเนื้อนุ่ม และยังแบ่งย่อยออกเป็น
- ผลแห้งแล้วไม่แตก (indehiscent dry fruit) เป็นผลที่เจริญเต็มที่แล้ว เพอริคาร์พจะแห้ง เมื่อเจริญเต็มที่จะไม่มีการแตก แบ่งออกเป็น ผลแบบ


เอคีน (achene) เป็นผลขนาดเล็ก เนื้อเพอริคาร์พจะบางและแห้งมักมี 1 เมล็ด ส่วนเนื้อเพอริคาร์พจะแยกจากเปลือกหุ้มเมล็ดชัดเจน

คาริออพซิส (caryopsis) เป้นผลขนาดเล็กภายในผลมี 1 เมล็ด ส่วน เพอริคาร์พและกับเปลือกหุ้มเมล็ดจะเชื่อมติดกัน

นัท (nut) เป็นผลที่เกิดจากรังไข่ที่มีหลายคาร์เพลเชื่อมกัน แต่มีออวุลเดียว เมื่อเจริญเป็นผลจะมีเมล็ดเดียว มีเปลือกแข็งผิวมัน

ซารามา (samara) เป็นผลที่มีเนื้อเพอริคาร์พบางและแห้ง ส่วนเนื้อเยื่อชั้นนอกของผลจะเจริญยื่นออกเป็นปีก อาจมีมากกว่า 1 ปีก

ซามารอยด์ (samaroid) เป็นผลที่มีลักษณะคล้ายนัท มีเปลือกแข็ง แต่จะมีส่วนของกลีบเลี้ยงเจริญติดมากับผลด้วย กลีบเลี้ยงเจริญเป็นปีก 2-3 ปีก

ซิโซคาร์พ (schizocarp) เป็นผลที่เกิดจากรังไข่ที่ประกอบด้วยหลายคาร์เพลเชื่อมกัน เมื่อเจริญเป็นผลคาร์เพลจะแยกออกจากกันเล็กน้อย
- ผลแห้งแล้วแตก (dehiscent dry fruit) เป็นผลที่เมื่อเจริญเต็มที่ แล้วเพอริคาร์พจะแห้งและแตก เมล็ดสามารถกระจายออกมาได้ แบ่งเป็น

เลกกูม (legume) เป็นผลที่เกิดจากดอกที่มีรังไข่อันเดียวและมีคาร์เพลเดียว เมื่อผลแก่จะแตกแยกเป็น 2 ตะเข็บ ผลมักมีรูปร่างยาว

โลเมนต์ (loment) หรือโลเมนตัม (lomentum) เป็นผลที่มีลักษณะเป็นฝักเหมือนเลกกูม แต่มีรอยคอดเว้าเป็นช่วง และมักหักตามช่วงรอยคอด

ฟอลลิเคิล (follicle) เป็นผลที่เกิดจากดอกที่มีคาร์เพลเดียวหรือหลายคาร์เพลแต่แยกกัน เมื่อผลแก่เต็มที่จะแตกเป็นรอยแยก 1 ตะเข็บ

ครีโมคาร์พ (cremocarp) เป็นผลขนาดเล็ก ภายในมี 2 เมล็ดเมื่อผลแตกจะเห็นเมล็ดมีก้านของผล (carpophore) แยกไปชูเมล็ดซึ่งแยกออกไป 2 ข้าง

ซิลิค (siligue) เป็นผลที่เกิดจากรังไข่ที่มี 2 คาร์เพล เมื่อผลแก่จะแตกตามยาว แบ่งผลเป็น 2 ซีก เมล็ดติดอยู่ที่แนวกลางของผล ซึ่งหลุดออกจากเพอริคาร์พทั้ง 2 ข้าง

ซิลิเคิล (silicle) เป็นผลเหมือนซิลิคแต่มีขนาดเล็ก

แคปซูล (capsule) คือ ผลที่เกิดจากดอกที่มีรังไข่เกิดจากหลายคาร์เพลเชื่อมกัน เมื่อผลแก่จะแตกได้หลายแบบ

อูทริเคิล (utricle) เป็นผลคล้ายผอบ เวลาแตกจะแตกรอบตามขวางผล แต่ภายในมีเพียง 1 เมล็ด
6.2 ผลกลุ่ม (aggregate fruit) เป็นผลที่เกิดจากดอกๆ เดียว แต่มีหลายคาร์เพลที่แยกจากกัน เมื่ออดอกได้รับการผสม รังไข่แต่ละอันจะเจริญเป็นผลย่อย

6.3 ผลรวม (multiple fruit หรือ collective fruit หรือ compound fruit) เป็น ผลที่เจริญมาจากดอกหลายดอกซึ่งอยู่บนช่อเดียวกัน เจริญเชื่อมติดกันจนดูคล้ายเป็นผลเดียว

7. เมล็ด (seed) คือ ส่วนที่เจริญเปลี่ยนแปลงมาจากออวุล หลังจากดอกได้รับการผสมพันธุ์ เมล็ดมีส่วนประกอบดังนี้
7.1 เปลือกหุ้มเมล็ด (seed coat) เป็นส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากผนังหุ้มออวุล ซึ่งมี 2 ชั้น ทำให้มีเปลือกหุ้ม 2 ชั้นด้วย เปลือกเมล็ดทำหน้าที่ห่อหุ้มป้องกันส่วนประกอบภายในเมล็ด เปลือกหุ่มเมล็ดทั้ง 2 ชั้น คือ
1) เปลือกเมล็ดชั้นนอก (testa หรือ sclerotesta) จะเห็นชั้นที่หนาและแข็งเปลี่ยนแปลงมาจากผนังชั้นนอกของออวุล ในเมล็ดบางชนิดอาจเปลี่ยนแปลงเป็นปีก
2) เปลือกเมล็ดชั้นใน (tegment หรือ sacrotesta) เป็นเยื่อบางๆ เจริญเปลี่ยนแปลงมาจากผนังชั้นในของออวุล7.2 เอนโดสเปิร์ม (endosperm) คือ เนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่สะสมอาหารไว้เลี้ยงต้นอ่อน ขณะเมล็ดงอก เมล็ดบางชนิดมีเอนโดสเปิร์ม แต่บางชนิดไม่มี แต่จะมีการสะสมอาหารไว้ที่ส่วนอื่น
7.3 เอ็มบริโอ (embryo) เป็นส่วนที่เกิดจากการผสมของไข่กับสเปิร์ม แล้วเติบโตเป็นต้นไม้เล็กๆ อยู่ในเมล็ด เอ็มบริโอมีส่วนประกอบ คือ
1) ใบเลี้ยง (cotyledon) อาจมีลักษณะแบนบางคล้ายใบ พืชใบเลี้ยงคู่มีใบเลี้ยงสองใบ พืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีใบเดียว พืชบางชนิดใบเลี้ยงอาจเก็บสะสมอาหารแทนเอ็มบริโอ
2) ลำต้นของเอ็มบริโอ (embryonic stem) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ลำต้นส่วนที่อยู่เหนือจุดติดของใบเลี้ยง เรียกว่า อีพิคอทิล (epicotyl) จะมีส่วนปลายยอดที่มียอดอ่อน และใบอ่อนแท้ และมีไฮโปคอทิล (hypocotyl) เป็นลำต้นส่วนที่อยู่ใต้จุดติดของใบเลี้ยง
3) แรดิเคิล (radicle) เป็นส่วนที่เจริญไปเป็นรากแก้วอยู่ปลายสุดของไฮโปคอทิล



ลักษณะภายนอกของเมล็ด
เปลือกหุ้มเมล็ดมีรอยต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมาจากผนังหุ้มออวุล เช่น
1. ไฮลัม (hilum) คือ รอยแผลที่ปรากฏอยู่บนเปลือกหุ้มเมล็ด เนื่องจากก้านออวุลขาดหลุดไป
2. ราฟี (raphe) คือ รอยสันนูนบนเมล็ด ซึ่งเกิดจากการที่เนื้อเยื่อของก้านชูออวุลแผ่ออกจับกับออวุล คือ เชื่อมต่อเข้ากับผนังหุ้มออวุล
3. ไมโครไพล์ (micropyle) คือ เป็นช่องเปิดเล็กๆ ซึ่งเป็นช่องเปิดของออวุล เมื่อเจริญเป็นเมล็ดแล้วยังคงมีอยู่
4. แอริล (aril) เป็นเนื้อเยื่อที่เกิดหุ้มเมล็ดไว้ คือ อยู่ระหว่างเปลือกหุ้มเมล็ดกับเพอริคาร์พ เจริญมาจากก้านชูออวุล อาจกินได้




แหล่งข้อมูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น